
ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เสนอนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณาควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษา โดยข้อมูลเมื่อเดือนธันวาคม 2561 พบว่า มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน 14,796 โรงเรียน มีนักเรียนต่ำกว่า 40 คน 2,845 โรงเรียน โรงเรียนในพื้นที่สูง 1,190 โรงเรียน และโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เกาะแก่ง ห่างไกล 123 โรงเรียน ล่าสุดนักวิชาการแสดงความไม่เห็นด้วย และมองว่าปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กเกิดจากระบบบริหารราชการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขณะที่นายณัฏฐพล นำข้อมูลแผนผังพื้นที่โรงเรียนทั่วประเทศมาวิเคราะห์ เป็นรายจังหวัดและอำเภอ วิเคราะห์ย้อนหลัง 10 ปี ร่วมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่ง้คงของมนุษย์ (พม.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) นั้น
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ผ่านมาสพฐ. ได้ดำเนินการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กมาอย่างต่อเนื่องยึดคุณภาพของผู้เรียนเป็นหลักเพราะปัจจุบันจำนวนเด็กน้อยลง การบริหารจึงต้องเป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน โดยวันที่ 7 สิงหาคมนี้ตนจะประชุมกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ มอบนโยบายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ให้แต่ละสพฐ.จัดทำแผนการแก้ปัญหามาเป็นรายจังหวัด เสนอให้สพฐ. พิจารณา ภายในวันที่ 30 สิงหาคม ทั้งนี้สพฐ. มีแนวทางแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นภาพรวมให้แต่ละเขตพื้นที่ฯ นำไปปรับใช้ ซึ่งไม่ใช่การควบรวมอย่างเดียวแต่การพิจารณาแนวทาง ต้องคำนึงถึงบริบทพื้นที่ เช่น เกาะแก่ง ห่างไกล บนภูเขาสูง ควรคงไว้ แล้วใช้วิธีบริหาร เพิ่มนวัตกรรมทางการศึกษาเข้าไปช่วยในการเรียนการสอน รวมถึงต้องทำความเข้าใจกับชุมชนที่เกี่ยวข้องด้วย
“การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องทำความเข้าใจ ผมขอย้ำว่าการควบรวมเป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาคุณภาพการจัดการศึกษาที่ดี โดยยึดตามสภาพพื้นที่เป็นสำคัญ อย่างเช่น พื้นที่เกาะแก่ง ห่างไกล ก็ต้องคงไว้ “นายสุเทพกล่าว
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการกพฐ. กล่าวว่า การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กสามารถทำได้ ถือเป็นเรื่องดี และเป็นแนวคิดหลักที่ทำมาตลอด แต่การดำเนินการต่าง ๆ จะต้องดูบริบทพื้นที่ รวมถึงพิจารณาอำนวยความสะดวกการเดินทางให้นักเรียนด้วย
“การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กนั้นต้องไม่เป็นการสั่งมาจากเบื้องบน แต่ต้องเป็นความต้องการของพื้นที่โดยตรง และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ควรเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของพื้นที่ และหากปัจจุบันองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) มีความพร้อมสามารถดูแลรักษาโรงเรียนขนาดเล็กได้ อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทาง ศธ.จะได้ประสานกับ อปท.เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างเหมาะสม” คุณหญิงกษมากล่าว
นายไพฑูรย์ อักษรครบุรี ผู้อำนวยการโรงเรียนนารากอรพิมพ์ ประธานเครือข่ายครูโคราช กล่าวว่า ทางเครือข่ายครูโคราชมีมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กด้วยวิธีควบรวม เพราะไม่มีอะไรยืนยันได้ว่า การยุบหรือควบรวมจะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียของเด็กดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการทำลายวัฒนธรรมที่ดีงามของชุมชน ทำให้เกิดปัญหาคนไม่รักท้องถิ่นบ้านเกิด อย่างที่จังหวัดนครราชสีมา มีโรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งที่ควบรวมกับโรงเรียนแม่เหล็ก กำลังจะขอแยกตัวออกมาอยู่เหมือนเดิม เพราะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง แนวทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องอยากให้เน้นเรื่องการส่งเสริมคุณภาพ ที่สำคัญไม่อยากให้มองการศึกษา เป็นเรื่องของขาดทุนกำไร แต่เป็นเรื่องบริการสาธารณะที่ต้องลงสู่ชุมชน ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข เพราะทุกวันนี้การควบรวมโรงเรียนทำให้วัฒนธรรมชุมชนหายไป
นายไพฑูรย์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ศธ. ต้องเร่งดำเนินการคือให้ครูอยู่ในห้องเรียน ลดภาระงานฝาก งานเอกสารต่าง ๆ ที่ทำให้ครูไม่มีเวลาพัฒนาการสอนอย่างเต็มที่ รวมถึงต้องมีการติดตามนิเทศก์ แนะแนวการเรียนการสอนให้กับครูอย่างเหมาะสม โดยเพิ่มจำนวนศึกษานิเทศก์ให้มากขึ้น ให้เพียงพอต่อการติดตามการทำงาน เพิ่มทรัพยากรบุคคล เจ้าหน้าที่ที่จำเป็น อาทิ ภารโรง เพื่อลดภาระงานฝากของครู
“ส่วนตัวผม เห็นว่า โรงเรียนขนาดเล็กควรจะคงอยู่คู่กับชุมชน เพราะจากการควบรวมที่ผ่านมา ยังไม่มีอะไรยืนยันว่าดีขึ้น การแก้ปัญหาควรเพิ่มการสนับสนุน เพิ่มคุณภาพ ลดภาระงานรวมถึงให้ความมั่นคงกับบุคลากร อย่างเช่น ตำแหน่งนักการภารโรง อาจเปิดโอกาสให้บรรจุเป็นข้าราชการ เพื่อให้เขารู้สึกว่า มีความมั่นคงในอาชีพ”นายไพฑูรย์
ที่มา https://www.matichon.co.th/education/news_1610477
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook