
เลขาธิการ กพฐ.เป็นประธานเปิดงาน “พลิกครูไทย สร้างเด็กไทย 4.0” ด้วยการใช้ภาษาอังกฤษเป็นฐานในการพัฒนาการเรียนรู้ เสริมเขี้ยวเล็บการศึกษาไทยเทียบเท่าสากล
วันนี้ (15 ก.ค.) ที่โรงเรียนบ้านหนองนาเวียง .น้ำเกลี้ยง จ.ศรีสะเกษ ดร.สุเทพ ชิตยะวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการแสดงผลงาน Best Practice ในงาน “พลิกครูไทย สร้างเด็กไทย 4.0” ของเครือข่ายพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแนวใหม่เป็นฐาน โดย ดร.สุเทพ กล่าวว่า ประเทศไทยประสบปัญหาการจัดหลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนแบบท่องจำคำศัพท์และไวยากรณ์ เพื่อให้สามารถสอบผ่านเกณฑ์ที่หลักสูตรกำหนดเป็นหลัก แต่กลับพบปัญหาสำคัญคือ ผู้เรียนไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ซึ่งส่งผลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจอาเซียนของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน ที่มีการกำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็น “working Languag”
“จากปัญหาดังกล่าวสพฐ. จึงมีนโยบายเร่งปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบ ให้มีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของผู้เรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเสริมสมรรถนะและทักษะการใช้ภาษาอังกฤษให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาองค์ความรู้ เพื่อการพัฒนาตน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการพัฒนาระบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 มีการพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถกำกับการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการวางพื้นฐานระบบรองรับการเรียนรู้โดยใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ ระดับนานาชาติ” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
ด้าน น.ส.พยัตติกา ห้วยจันทร์ ผอ.รร.บ้านหนองนาเวียง กล่าวว่า รร.บ้านหนองนาเวียง อ.น้ำเกลี้ยง เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียน จำนวน 81 คน ครู จำนวน 4 คน มีพื้นที่ในเขตบริการ 3 หมู่บ้าน ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแนวใหม่ ประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 และได้มีการจัดทำประชารัฐร่วมกับภาคเอกชน โดยได้รับความร่วมมือจากหอการค้า จ.ศรีสะเกษ ร่วมกับ บริษัท ศรีสะเกษ ไพศาลวิทยา จำกัด เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษา โดยใช้สื่อมัลดิมีเดีย ไดเนท (DynEd) มาใช้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของผู้เรียน ที่ทำให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติ รวมถึงสามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี จนสามารถสร้างผลงานในการแข่งขันด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษได้ในระดับประเทศ และระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง จ.ศรีสะเกษ ยังได้มีการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีสื่อมัลติมิเดีย ไดเนท (DynEd) มาใช้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของผู้เรียน ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
ที่มา : https://www.dailynews.co.th/education/720544
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook